วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ตอนที่2 "ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ"

115431704115431704

ในวันสารทไทย วันแรม๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ชาวเพชรบูรณ์จะร่วมใจกันอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา พระคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์เข้าพิธีดำน้ำที่สืบทอดปฏิบัติกันต่อมาหลายรุ่นหลายสมัยจนกลายเป็นประเพณีอุ้มพระน้ำเป็นประจำทุกปี โดยมีพ่อเมืองเพชรบูรณ์หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ทำหน้าที่อัญเชิญลงดำน้ำที่บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ด้วยเชื่อกันว่าการอุ้มพระดำน้ำจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหารจะสมบูรณ์ พืชผลทางการเกษตรจะงอกงามดี ให้ผลผลิตมาก

aumpra002_158

ที่มาของประเพณีนี้มาจากการเล่าสืบๆ ต่อกันมาของคนรุ่นเก่าว่า ชาวประมงกลุ่มหนึ่งที่ออกหาปลาในลำน้ำป่าสักเป็นประจำทุกวัน วันหนึ่งเกิดเหตุประหลาด ตั้งแต่เช้าจนบ่ายหาปลาไม่ได้สักตัว ระหว่างที่นั่งปรึกษาหารือกันอยู่ว่าจะทำเช่นไปต่อไป กระแสนน้ำในลำน้ำป่าสักก็มีฟองน้ำผุดขึ้นมาเหมือนน้ำเดือด และกลายเป็นน้ำวนขนาดใหญ่ ที่กลางน้ำวนก็มีพระพุทธรูปลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ชาวประมงที่เห็นเหตุการณ์โดยตลอดจึงลงไปอัญเชิญขึ้นมาบนบก เพื่อให้ผู้คนได้กราบไหว้บูชาและอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ และถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธมหาธรรมราชา


พระพุทธมหาธรรมราชา เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะลพบุรีทรงเครื่องกษัตริย์ พุทธลักษณะพระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาวย้อยจรดพระอังสะ พระเศียรทรงชฎาเทริด ทรงสร้อยพระศอพาหุรัด ทรงประคดเป็นลานสวยงาม สร้างด้วยเนื้อทองสำริด หน้าตักกว้าง ๑๓ นิ้ว สูง ๑๘ นิ้ว ไม่มีฐาน

Phra-Buddha-Maha-Dhamma-raja



พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรภูมิได้ ๑ ปี จนกระทั่งถึงเทศกาลสารทไทย พระพุทธรูปเกิดหายไปอย่างไร้ร่องรอย ชาวบ้านจึงออกตามหา สุดท้ายไปพบว่าลอยน้ำอยู่ตรงจุดที่พบพระพุทธรูปองค์นี้เป็นครั้งแรก นับแต่นั้นมา เมื่อถึงเทศกาลสารทไทย ซึ่งตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เจ้าเมือง ข้าราชการ ประชาชนชาวเพชรบูรณ์ จะร่วมกันอัญเชิญพระพุทธรูปไปสรงน้ำ ณ จุดที่พบพระพุทธรูปเป็นครั้งแรก



อีกความเชื่อหนึ่งกล่าวไว้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ นามว่า พระพุทธมหาธรรมราชา ถูกอัญเชิญจากสุโขทัยไปไว้ที่เพชรบูรณ์ทางเรือ พร้อมกับให้มีการสร้างวัดใหม่เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้

801e465575bf53af29d139825916aeb1

เมื่อถึงวันสารทไทย ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์จะร่วมกันอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ขึ้นประดิษฐานบนบษบก แห่จากวัดไตรภูมิไปตามเส้นทางในเขตเทศบาล เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา ก่อนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์รับหน้าที่อัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานบนเรือหน้าวัดไตรภูมิ ทวนแม่น้ำป่าสักขึ้นไป และไปทำพิธีดำน้ำ ที่ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์จะอัญเชิญพระพุทธรูป ทูนไว้เหนือหัวค่อยๆ ดำน้ำลงไป โดยหันหน้าไปทางเหนือ ๓ ครั้ง และหันหน้าทางใต้ ๓ ครั้ง

ปัจจุบันประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ผู้ที่ทำหน้าที่อัญเชิญคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ในฐานะพ่อเมืองเทียบเท่ากับเจ้าเมืองในสมัยโบราณ เป็นผู้ที่ต้องดูแลสอดส่องทุกข์สุขของประชาชน เป็นผู้มีหน้าที่ทำนุบำรุงพระศาสนา ด้วยเหตนี้จึงมีเพียงผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้นที่ทำหน้าที่นี้ ชาวเพชรบูรณ์เชื่อกันว่า ปีใดไม่มีการอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาดำน้ำ บ้านเมืองจะเกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง และพระพุทธรูปองค์นี้จะหายไปโดยหาสาเหตุไม่ได้อีกด้วย


Cr.ประเพณี.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บล็อกของเพื่อนๆกลุ่มเรียนวันศุกร์