วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2559

"ภูมิศาสตร์"ตอนที่2

เอลนีโญ - ลานีญา

        เอลนีโญ (El Niño) เป็นคำในภาษาสเปนแปลว่า บุตรพระคริสต์ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการหมุนเวียนของกระแสอากาศกับกระแสน้ำในมหาสมุทร มักเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาส เมื่อกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกไหลเข้าแทนที่กระแสน้ำเย็นบริเวณชายฝั่งเปรู ส่งผลกระทบทางระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร ฝูงปลามีจำนวนลดลง ทำให้นกชายฝั่งขาดอาหาร ชาวประมงขาดรายได้ รวมทั้งเกิดฝนตกและดินถล่มอย่างรุนแรงในประเทศเปรูและเอกวาดอร์ อย่างไรก็ตามเอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีคาบเวลาที่แน่นอน ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี ขณะที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งอาจกินเวลา 2 - 3 เดือนหรือนานกว่า เอลนีโญจึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “El Niño – Southern Oscillation” เรียกอย่างสั้นว่า "ENSO" หมายถึงความผันผวนซึ่งเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้




สภาวะปกติ 
        
โดยปกติบริเวณเส้นศูนย์สูตร เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ลมสินค้าตะวันออก (Eastery trade winds) จะพัดจากประเทศเปรูชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ ไปทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วยกตัวขึ้นบริเวณประเทศอินโดนีเซีย ทำให้มีฝนตกมากในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปออสเตรเลียตอนเหนือ กระแสลมสินค้าพัดให้กระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกไปกองรวมกันทางทิศตะวันตก จนมีระดับสูงกว่าระดับน้ำทะเลปกติประมาณ 60 – 70 เซนติเมตร แล้วจมตัวลง กระแสน้ำเย็นใต้มหาสมุทรซีกเบื้องล่างไหลเข้ามาแทนที่กระแสน้ำอุ่นพื้นผิวซีกตะวันออก นำพาธาตุอาหารจากก้นมหาสมุทรขึ้นมาทำให้ปลาชุกชุม เป็นประโยชน์ต่อนกทะเลและการทำประมงชายฝั่งของประเทศเปรูดังภาพที่ 1




ภาพที่ 1 สภาวะปกติ

สภาวะเอลนีโญ
  เมื่อเกิดเอลนีโญ กระแสลมสินค้าตะวันออกอ่อนกำลัง กระแสลมพื้นผิวจึงเปลี่ยนทิศทาง พัดจากประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียตอนเหนือไปทางทิศตะวันออก แล้วยกตัวขึ้นเหนือชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ ทำให้เกิดฝนตกหนักและแผ่นดินถล่มในประเทศเปรูและเอกวาดอร์ กระแสลมพัดกระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกไปกองรวมกันบริเวณชายฝั่งประเทศเปรู ทำให้กระแสน้ำเย็นใต้มหาสมุทรไม่สามารถลอยตัวขึ้นมาดังภาพที่ 2 บริเวณชายฝั่งจึงขาดธาตุอาหารสำหรับปลาและนกทะเลทำให้ชาวประมงเปรูขาดรายได้ ขณะที่เอลนีโญทำให้ฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้แต่ก็ทำให้เกิดความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียตอนเหนือ ไฟใหม้ป่าอย่างรุนแรงในประเทศอินโดนีเซียในบางปีเป็นเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญนั่นเอง




ภาพที่ 2 เอลนีโญ


สภาวะลานีญา 
          
ลานีญา (La Niña) แปลว่า บุตรธิดา เป็นปรากฏการณ์ที่มีลักษณะตรงข้ามกับเอลนีโญ คือมีลักษณะคล้ายคลึงกับสภาวะปกติแต่รุนแรงกว่า กล่าวคือ กระแสลมสินค้าตะวันออก (Trade wind) ที่พัดไปทางทิศตะวันออกมีกำลังแรงทำให้ระดับน้ำทะเลบริเวณทางซีกตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงกว่าสภาวะปกติ ลมค้ายกตัวเหนือประเทศอินโดนีเซียทำให้เกิดฝนตกอย่างหนัก แต่ที่บริเวณชายฝั่งประเทศเปรูน้ำเย็นใต้มหาสมุทรยกตัวขึ้นแทนที่กระแสน้ำอุ่นบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางซีกตะวันออกดังภาพที่ 3 ทำให้เกิดธาตุอาหารและฝูงปลาชุกชุม

ภาพที่ 3 ลานีญา


 
เราอาจกล่าวอย่างง่ายว่า เอลนีโญทำให้เกิดฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้และเกิดความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทางกลับกันลานีญาทำให้เกิดความแห้งแล้งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้และเกิดฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเอลนีโญและลานีญาเกิดจากความผกผันของกระแสอากาศโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตรเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัด ภาพถ่ายจากดาวเทียมโทเพกซ์/โพซีดอน (Topex/Poseidon) ในภาพที่ 4 แสดงให้เห็นความต่างระดับของน้ำทะเลบนพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิก สีขาวแสดงระดับน้ำซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 14 เซนติเมตร สีม่วงหรือสีเข้มแสดงระดับน้ำซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ -18 เซนติเมตร ขณะที่เกิดลานีญา - เอลนีโญ



ภาพที่ 4 ระดับน้ำพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บล็อกของเพื่อนๆกลุ่มเรียนวันศุกร์